BRT ร่วมจัดสัมมนา “เส้นทางสู่นักวิจัยชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนจังหวัดน่าน” พิมพ์

 ภายหลังจากที่โครงการ BRT ได้สนับสนุนโครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่เกษตร โดยมีพื้นที่เกษตรจังหวัดน่านเป็นพื้นที่นำร่อง ทำให้เกิดองค์ความรู้มากมายจากนักวิจัยท้องถิ่น จึงเกิดงานสัมมนาวิชาการที่มีชื่อตามโครงการว่า "โครงการแผนอนุรักษ์และองค์ความรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่เกษตร" ขึ้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา โดยมีการรวมตัวของเกษตรกรที่เป็นนักวิจัยชุมชน เจ้าหน้าที่เกษตร อบต. สื่อมวลชน และเครือข่ายที่สนใจในกระบวนการขับเคลื่อนงานวิจัยครั้งนี้จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมงานซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเทวราช จังหวัดน่าน

งานสัมมนาในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยโดยนักวิจัยชุมชนในแต่ละท้องถิ่นที่ขึ้นมาถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานวิจัย อาทิ การใช้รำหยาบ (แกลบ) ลดจำนวนหอยเชอรี่ในแปลงนา การใช้น้ำเมี่ยง (น้ำใบชา) พ่นแปลงนาเพื่อลดการระบาดของศัตรูข้าว หรือการทดลองปลูกข้าวพันธุ์หวัน 1 เปรียบเทียบผลผลิตกับข้าวพันธุ์ กข.6 นอกจากนี้ยังมีมุมนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้ให้ผู้ที่สนใจได้ซักถามอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการลงมือทำ สังเกต เก็บข้อมูล โดยนักวิจัยชุมชนจังหวัดน่าน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาตนเองของเกษตรยุคใหม่ที่รู้จักนำเอาทรัพยากรในท้องถิ่นมาผนวกเข้ากับภูมิปัญญาที่มีในตัวเอง ช่วยให้ลดละเลิกการใช้สารเคมีและลดต้นทุนการผลิตได้

 

ใบเมี่ยง

ใบเมี่ยงที่นำมาแปรรูปเป็นน้ำสกัดไล่แมลง

 

แกลบ

สาธิตแปลงนาที่ใช้แกลบมาช่วยลดจำนวนหอยเชอรี่