กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก พิมพ์

(ซ้าย) คุณรังสิมา ตัณฑเลขา (ขวา) ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหากิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก.. ขุมทรัพย์ชีวภาพแหล่งใหม่ของคนไทย
      

         ทีมวิจัยกิ้งกือไทยพบกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ของโลก 12 ชนิด จากภาคใต้ของประเทศไทย คาดอาจพบอีกมากกว่า 30 ชนิด สะท้อนถึงระบบนิเวศที่หลากหลายของประเทศไทย เผยจำนวนและความหลากหลายที่มากมายของกิ้งกือไทย ส่งผลโดยตรงต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ เหตุเพราะกิ้งกือเป็นหนึ่งในผู้ย่อยสลายและสร้างสารอาหารในระบบนิเวศ วอนคนไทยอย่าทำลายสัตว์ผู้รักษาสมดุลของธรรมชาติชนิดนี้

          เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก ขุมทรัพย์ชีวภาพแหล่งใหมของคนไทย” ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK park) พร้อมเปิดตัวนิทรรศการ “ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต” ที่จะเปิดแสดงตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ที่อุทยานการเรียนรู้

           ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัยกิ้งกือไทย และนักวิจัยโครงการ BRT เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต ซึ่งกิ้งกือเป็นสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งที่พบมากในประเทศไทย โดยกิ้งกือที่พบในประเทศไทยมีหลายแบบด้วยกัน เช่น กิ้งกือกระบอก เป็นกิ้งกือที่คนทั่วไปคุ้นเคย และพบบ่อยที่สุด กิ้งกือยักษ์ กิ้งกือมังกร กิ้งกือตะเข็บ กิ้งกือกระสุน กิ้งกือเหล็ก และกิ้งกือขน ซึ่งกิ้งกือแต่ละชนิดล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ทั้งสิ้น เนื่องจากกิ้งกือจะกินซากพืช และลูกไม้ ผลไม้ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร นั่นคือทำหน้าที่เป็นเทศบาลกำจัดขยะ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศ ช่วยให้กล้าไม้รวมถึงต้นไม้ในป่าเจริญเติบโตจนสามารถสร้างผลผลิตให้กับคนไทยมาช้านาน

         

         “โดยทั่วไปกิ้งกือเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่ในที่ชื้น เช่น ขุดรูอยู่ใต้ดิน อยู่ตามซอกหลืบถ้ำ หรือบางครั้งอาจพบกิ้งกืออยู่บนต้นไม้ ลักษณะที่อยู่อาศัยของกิ้งกือแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับลักษณะอาหารที่กิ้งกือแต่ละชนิดชอบกิน และที่อยู่อาศัยยังเป็นตัวกำหนดให้ลักษณะรูปร่างของกิ้งกือแตกต่างกันด้วย เช่น กิ้งกือที่ชอบกินเปลือกไม้ มักจะพบเกาะอยู่บนต้นไม้ ขาจึงมีลักษณะพิเศษสามารถเกาะและจิกไปบนต้นไม้ได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากกิ้งกือเป็นสัตว์ประเภทกินซาก จึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาอวัยวะสำหรับการล่า เหมือนกับตะขาบ หรือ งู ดังนั้นกิ้งกือจึงไม่มีพิษ และไม่มีเขี้ยวสำหรับกัด แต่จะมีแผ่นฟันลักษณะคล้ายช้อนตักไอศครีม ซึ่งกัดแทะได้เฉพาะซากเท่านั้น กลไกการป้องกันตัวของกิ้งกือ คือการปล่อยสารเคมีออกมาจากร่างกาย เรียกว่าสารเบนโซควิโนน และบางชนิดจะปล่อยสารไซยาไนด์ แต่กลไกการป้องกันตัวเบื้องต้นของกิ้งกือที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด คือการขดตัวเป็นวง โดยให้ส่วนหัวอยู่ด้านใน ให้เปลือกแข็งของลำตัวทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกัน เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากิ้งกือไม่มีกลไกที่จะทำร้ายคนได้เลย” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว 

        สำหรับการศึกษาวิจัยด้านกิ้งกือในประเทศไทยนั้น ค่อนข้างน้อยมาก อาจเพราะกิ้งกือเป็นสัตว์ที่อาศัยหลบซ่อนอยู่ตามพื้นดิน อีกทั้งยังมีลักษณะที่หลายคนไม่ชอบ จึงยังไม่มีนักวิจัยไทยทำวิจัยเรื่องกิ้งกือ โดยทีมวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ถือเป็นทีมแรกที่มีการทำวิจัยกิ้งกือไทย ด้วยการสนับสนุนของโครงการ BRT และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งการทำวิจัยในระยะแรกจะเป็นการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์จำแนกสายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาทีมวิจัยได้พบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกไปแล้ว 2 ชนิด เป็นกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ และกิ้งกือมังกรสีชมพู และในครั้งนี้ยังสามารถแยกสายพันธุ์กิ้งกือกระบอกได้เป็นชนิดใหม่ของโลก อีก 12 ชนิดด้วยกัน

        

        ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก เป็นสายพันธุ์ที่เก็บตัวอย่างได้จากทางภาคใต้ของประเทศไทยเกือบทั้งหมด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ภูเก็ต กระบี่ และมีหนึ่งชนิดที่ได้จากภาคกลาง กิ้งกือทั้ง 12 ชนิดที่พบใหม่นี้ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่มีชื่อเสียงทางด้านสัตววิทยา คือ ZOOTAXA และได้มีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยแล้ว ได้แก่ กิ้งกือเหลืองเท้าส้ม กิ้งกือน้ำตาลหลังส้ม กิ้งกือเทาหลังแดง กิ้งกือเหลืองเท้าชมพู กิ่งกือน้ำตาลเท้าส้ม กิ้งกือปลอกน้ำตาลแดง กิ้งกือดำเท้าชมพู กิ้งกือปลอกเหลืองน้ำตาล กิ้งกือเหลืองดำ กิ้งกือน้ำตาลหลังเหลือง กิ้งกือฮอฟแมน และกิ้งกือดีมาง นอกจากนี้ ยังมีกิ้งกือที่คาดว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 30 ชนิด ซึ่งหมายความว่าน่าจะมีกิ้งกือกระบอกในประเทศไทยรวมกันมากถึง 50 ชนิด

        “กิ้งกืออาจมีการระบาดบ่อยครั้งขึ้นในระยะนี้ เนื่องมาจากการขาดภาวะสมดุลต่างๆ อาทิมีการทำลายพื้นที่อาศัยของกิ้งกือ หรือการปรับแต่งพื้นที่ทำให้บ้านกิ้งกือถูกน้ำท่วม กิ้งกือต้องอพยพ ซึ่งอาจจะเข้าอยู่ในบ้านผู้คนได้ วิธีกำจัดควรกวาดรวบรวมแล้วนำไปใส่ในหลุมขยะประเภทซากพืช ผลไม้เน่าๆ โดยเฉพาะมะม่วง ขนุน ฯลฯ กิ้งกือจะกินของเสียเหล่านี้แล้วเปลี่ยนเป็นเม็ดสารอินทรีย์ที่พืชนำไปใช้เป็นอาหารได้ ก็คือปุ๋ยนั่นเอง” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว

        ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีกิ้งกือจำนวนมากนั้น เท่ากับเรามีโรงงานผลิตปุ๋ยขนาดย่อม กระจายตัวกันอยู่ทั่วไป กิ้งกือคอยเปลี่ยนซากพืชเน่าเปื่อยให้กลายเป็นปุ๋ย ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม หากเกษตรกรไม่ทำลายกิ้งกือ และปล่อยให้กิ้งกือได้ทำหน้าที่ของมัน จะสามารถผลิตปุ๋ยที่มีสารอาหาร สามารถทดแทนสัดส่วนการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีให้กับเกษตรกรได้บางส่วน ซึ่งมูลของกิ้งกือที่กลายเป็นปุ๋ยเหล่านี้ เทียบได้กับขุมทรัพย์ชีวภาพของคนไทย

 
ผู้ส่งข่าว
งานประชาสัมพันธ์
โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT)

    

ข้อมูลประกอบ กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก