ไทยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เสือลายเมฆที่ใหญ่ที่สุดในโลก พิมพ์

เสือลายเมฆที่มาของข่าว : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 7 เมษายน 2552



 

            เสือลายเมฆ แม้จะมีชื่อเป็นเสือ แต่ขนาดของมันไม่ใหญ่เท่ากับเสือ หรือใหญ่กว่าแมวป่าเพียงเล็กน้อย ด้วยลวดลายที่สวยงามของมัน จึงทำให้เป็นหมายปองของบรรดาเหล่านักสะสม เสือลายเมฆจึงถูกล่าเพื่อเอาหนัง และนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะนิสัยที่ค่อยข้างเชื่อง ไม่ดุร้ายเหมือนเสือหรือแมวป่า

        หากแต่การกำหนดสถานภาพของเสือลายเมฆในปัจจุบันนี้  สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ได้จัดให้อยู่ในสถานะ DD (Data Defficient) ซึ่งหมายถึง ข้อมูลไม่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงต้องมีการศึกษาข้อมูลวิจัย เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ในระยะยาว ในที่สุดจึงมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจกัน (MOU) ระหว่างองค์การสวนสัตว์ สวนสัตว์แห่งชาติของสถาบันสมิธโซเนียน สวนสัตว์แนชวิลล์ และสวนสัตว์ Point Defiance ของสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเหลือในการเพาะเลี้ยงเสือลายเมฆ ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

        เสือลายเมฆนายสุริยา แสงพงศ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว กล่าวว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาทีมงานของสวนสัตว์ได้เพาะเลี้ยงเสือลายเมฆ จนได้ลูกมากกว่า 30 ตัว ซึ่งถือเป็น แหล่งเพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นศูนย์รวม การศึกษา การวิจัย การจัดการ แหล่งรวมพันธุกรรม นอกถิ่นอาศัยที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของโลก เสือลายเมฆ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pardofelis nebulosa อยู่ในวงศ์ Felidae มีขนาดเล็กกว่าเสือดาว แต่ใหญ่กว่าแมวป่าชนิดอื่นๆที่พบในภูมิภาคอินโดจีน  ลักษณะทั่วไป มีความยาวลำตัวถึงหัว 65-95 ซม. ความยาวหาง 55-80 ซม. น้ำหนักประมาณ 16-23 กก. ขาทั้ง 4 ข้างค่อนข้างสั้น แต่อุ้งเท้ามีขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการปีนต้นไม้

        ลักษณะเด่นคือ มี ลวดลายตามลำตัวคล้ายก้อนเมฆ...จึงเป็นที่มาของชื่อ...เสือลายเมฆ ลายที่อยู่บนหลัง จะมีขนาดใหญ่กว่าบริเวณอื่นๆ โดยมี ขอบสีดำล้อมรอบ ขนตามลำตัวสีเหลืองอ่อน บางตัวอาจมีสีเทาเข้ม หรือน้ำตาลเทา ใต้ท้องมีสีอ่อนกว่าลำตัว หางยาวฟูและมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับความยาวลำตัว มีลายจุดสีเข้มตลอดถึงปลายหาง

        การกระจายพันธุ์ตั้งแต่ ประเทศเนปาล สิกขิม ภาคเหนือของ อินเดีย ภาคใต้ของ จีน ไต้หวัน ตะวันตกของ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เกาะบอร์เนียว และ เกาะสุมาตรา พฤติกรรมมัก ชอบอาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว และ หากินตามลำพัง ส่วนมากอยู่บนต้นไม้ แต่ก็ลงมาบนพื้นดินบ้างเป็นครั้งคราว มักหา กินในเวลากลางคืน เหยื่อ ได้แก่ นก ลิง และ งูบางชนิด โดยก่อนกินเหยื่อจะเลียขนของเหยื่อเพื่อทำความสะอาด บางครั้งจะกลับมากินเหยื่อที่เหลือทิ้งไว้จนหมด ใช้เวลาตั้งท้อง 90-95 วัน ตกลูกครั้งละ 2-4 ตัว โดยลูกเสือแรกเกิดมีน้ำหนักตัวประมาณ 150-180 กรัม