อาจารย์ ม.วลัยลักษณ์ ค้นพบพืชวงศ์ขิงข่า ชนิดใหม่ของโลก พิมพ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชัย งามเรียบสกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำการศึกษาวิจัยความหลากหลายของพืช ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเปราะต้น วงศ์ขิงข่า ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยชั้นนำทางพฤกษศาสตร์ Nordic Journal of Botany
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชัย เปิดเผยถึงการค้นพบพืชชนิดดังกล่าวว่า ตามที่ตนได้รับทุนวิจัย โครงการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ (Biodiversity Utilization Programหรือ BUP) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ BIOTEC เพื่อทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "ความหลากหลายและประวัติวิวัฒนาการของพืชในสกุลกระชาย (Boesenbergia) วงศ์ขิงข่า (Zinigberaceae)" ของประเทศไทยนั้น โดยระหว่างการศึกษาวิจัย ได้มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ที่อยู่ในสกุลเปราะต้น (Caulokaempferia) ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในสกุลที่ใกล้ชิดกับพืชสกุลกระชาย อยู่ในวงศ์ขิงข่าเช่นเดียวกัน บริเวณอุทยานแห่งชาติ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และได้มีการตั้งชื่อพืชที่ค้นพบชนิดใหม่ดังกล่าวว่า Caulokaempferia sirirugsae Ngamriab. หรือในชื่อภาษาไทยว่า เปราะต้นศิริรักษ์ โดยได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของพืชในวงศ์ขิงข่าของโลก
 
เปราะต้นศิริรักษ์ เป็นพืชล้มลุก ขึ้นตามโขดหินที่มีความชื้นสูง ลักษณะลำต้นมีความสูง 12-20 เซนติเมตร มีใบจำนวน 6-8 ใบ ช่อดอกยาว 4-7 เซนติเมตร ดอกสีเหลืองโดยจะบานครั้งละ 1 ดอก ในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม และจะเป็นผลในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และเปราะต้นศิริรักษ์ยังเป็นพืชประจำถิ่น (endemic) คือพบเฉพาะบริเวณน้ำตกลำปี อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งในประเทศไทยคาดว่ามีพืชในสกุลนี้ประมาณ 16 ชนิด โดยในภาคใต้พบเพียง 4 ชนิดเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือเปราะต้นศิริรักษ์

ดอกของเปราะต้นศิริรักษ์

ดอกของเปราะต้นศิริรักษ์

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า การค้นพบพืชชนิดใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในประเทศไทย โดยเฉพาะในวงศ์ขิงข่า เพราะเปราะต้นศิริรักษ์ที่ถูกค้นพบถือเป็นพืชหายาก พบเฉพาะถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสามารถส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย

          ทั้งนี้ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany (ISI listed) ซึ่งเป็นวารสารวิจัยชั้นนำทางพฤกษศาสตร์ ของสแกนดิเนเวีย โดยผู้สนใจสามารถอ่านบทคัดย่องานวิจัยชิ้นนี้ได้ที่ (http://www3.interscience.wiley.com/journal/121517547/abstract)