นักวิทย์จุฬาฯ วิจัย พิมพ์
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหาโดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤศจิกายน 2551 23:29 น.

นักวิจัยจุฬาฯ ผู้ค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู เตรียมลุยโปรเจกต์ใหม่ เดินหน้าวิจัยปุ๋ยมูลกิ้งกือ หวังส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ ไม่ต้องง้อปุ๋ยเคมีราคาแพง ให้แร่ธาตุสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาดอีก 2 ปีได้ใช้แน่

       
       ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท 34) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กำลังจะเริ่มทำการวิจัยปุ๋ยมูลกิ้งกือ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้แทนปุ๋ยเคมี เพราะราคาไม่แพง มีธาตุอาหารสูง และไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม

       
       "กิ้งกือเป็นสัตว์ที่พบมากในประเทศไทย พบแล้วกว่า 100 ชนิด และคาดว่ายังมีที่ยังไม่ค้นพบอีกมากมาย แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับไม่ชอบกิ้งกือ บางคนเกลียด บางคนกลัวถูกกิ้งกือกัด แต่ในความเป็นจริงแล้วกิ้งกือไม่สามารถกัดคนได้ เขากัดกินได้เฉพาะซากใบไม้เท่านั้นเอง" ศ.ดร.สมศักดิ์ ชี้แจงและบอกต่อว่า
       
       จากที่ได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับกิ้งกือมาได้ราว 2-3 ปี นับว่าเป็นการเปิดโลกกิ้งกือเลยก็ว่าได้ เพราะยังไม่ค่อยมีใครศึกษาเรื่องนี้กันมากนัก และจากการวิเคราะห์มูลกิ้งกือในเบื้องต้นก็พบว่ามีส่วนประกอบของธาตุอาหารมากมายที่เป็นประโยชน์กับพืช เพราะส่วนใหญ่กิ้งกือกินซากพืชเป็นอาหาร และการย่อยสลายตามธรรมชาติก็มีการปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ดิน และทำให้พืชเจริญงอกงามได้เองโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย ก็เพราะได้ปุ๋ยจากธรรมชาตินั่นเอง ทั้งมูลไส้เดือน มูลกิ้งกือ และอื่นๆ ซึ่งมูลไส้เดือนก็ได้มีการนำไปทำเป็นปุ๋ยใช้จริงแล้วเช่นกัน
       
       "กิ้งกือเหมือนเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยตามธรรมชาติ มูลกิ้งกือแต่ละสายพันธุ์ก็ให้ปุ๋ยที่แตกต่างกันด้วย เราจึงอยากศึกษาว่ากิ้งกือแต่ละสายพันธุ์กินอะไรบ้างและให้มูลที่มีลักษณะอย่างไร มีแร่ธาตุอะไรบ้าง รวมถึงชนิดของจุลินทรีย์ที่ทำงานร่วมกับกิ้งกือแต่ละชนิดด้วย" ศ.ดร.สมศักดิ์ อธิบายและเปิดเผยต่อว่า
       
       ขณะนี้ได้วางแผนทำวิจัยศึกษาการใช้ประโยชน์จากมูลกิ้งกือร่วมกับคณะเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยจะสร้างบ่อหมักสำหรับเลี้ยงกิ้งกือด้วยอาหารแบบต่างๆ และวิเคราะห์มูลกิ้งกือที่ได้ ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีนี้จะได้ข้อมูลบางส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้บ้างแล้ว ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพง


 ปุ๋ยมูลกิ้งกือ
                                        มูลกิ้งกือหลากชนิดแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์


       อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกว่าจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยต่อกิ้งกือด้วย จึงจะช่วยให้ปุ๋ยมูลกิ้งกือเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยหวังให้ปุ๋ยมูลกิ้งกือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรนอกเหนือจากปุ๋ยมูลไส้เดือน โดยท้องถิ่นไหนมีสัตว์ชนิดใดมากก็เลือกใช้ประโยชน์จากสัตว์ชนิดนั้นๆ ตามความเหมาะสม


ที่มา : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000129804